ข้อมูลทางชีวะภาพ ของ ตะกวด

ตะกวด, จะกวด หรือ จังกวด (อังกฤษ: Bengal monitor;

อีสาน, ลาว, ใต้, เหนือ: แลน; เขมร: ตฺรอกวต; ชื่อวิทยาศาสตร์: Varanus bengalensis) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลังชั้นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง

มีรูปร่างคล้ายเหี้ย (V. salvator) ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกัน โดยมักจำสับสนกับเหี้ยหรือเรียกสลับกัน แต่ตะกวดมีขนาดเล็กกว่าเหี้ยมาก และตำแหน่งของโพรงจมูก อีกทั้งสีสันของตะกวดจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำ ซึ่งแตกต่างจากเหี้ยที่มีสีเหลืองผสมอยู่เป็นลาย อีกทั้งอุปนิสัยมักจะไม่ค่อยอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือชอบว่ายน้ำ

หรือหากินในน้ำเหมือนเหี้ย และไม่ดุร้ายเท่า ตะกวดมักอาศัยบนต้นไม้ ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนผึ่งแดดตามกิ่งไม้ แต่หากินตามพื้นดิน มักอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ

ความเหมือนที่แตกต่าง: เหี้ย แลน ตัวเงินตัวทอง ตะกวด เห่าช้าง ตุ๊ดตู่ แลนดอน
เมื่อแรกก้าวเข้าสู่ศาลายา ผมก็ได้ยินเรื่องความเชื่อในมหา'ลัยเกี่ยวกับเต่าและตัวเหี้ยทันทีครับ เขาเล่ากันว่าถ้าใครเห็นเต่าโผล่ที่คลองบุ๋ยจะได้ F แต่ถ้าใครเจอตัวเหี้ยจะได้เกรด A (เอ่อ..ผมเจอทั้งคู่เลย) ตอนแรกก็เอะใจว่าศาลายามันมีเหี้ยเหมือนที่ทับแก้วด้วยหรอ พออยู่ไปสักพัก โอ้โห...มันมีเยอะพอควรทีเดียว มีอยู่ตัวนึงที่ผมจะเจอมันนอนอยู่บนต้นมะขามเทศทุกครั้งที่ไปกินข้าวกลางวัน (ข้ามคลองบุ๋ยทีไร มองหามันทุกที) แต่ปัจจุบันต้นมะขามเทศโดนตัดไปแล้วล่ะครับ บางตัวก็เป็นมิตรมาก เดินกรีดกรายข้างๆ ทางเดินเชื่อมอาคาร ผมเดินไประแวงไป กลัวมันเอาหางฟาดด้วยความหมั่นไส้ 5555 อ้าวๆ เพ้อเจ้อไปเยอะแล้ว มาดูกันครับว่าสัตว์กลุ่มนี้ในประเทศไทยมีอะไรบ้าง และความแตกต่างมันเป็นอย่างไร

ทั่วโลกมีสัตว์วงศ์เหี้ย (Veranidae) มีอยู่ 60 กว่าชนิด โดย 1 ใน 2 อยู่ในทวีปออสเตรเลีย ที่เหลือพบในแอฟริกาและเอเชีย สัตว์ในวงศ์นี้มีอยู่ในเมืองไทยแน่ๆ 4 ชนิด + 1 ชนิดที่ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบเห็นอีก (เท่าที่รู้นะครับ) คือ 1. เหี้ยหรือตัวเงินตัวทอง 2. ตะกวดหรือแลน 3. เห่าช้าง 4. ตุ๊ดตู่ 5. แลนดอน
เหี้ย (Water monitor; Varanus salvator (Laurenti, 1768)) หรือ ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ยลายดอก (หรืออีกชื่อ 'ตัวกินไก่' 555) เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หัวค่อนข้างป้านกว่าชนิดอื่น มันจะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีเหลืองอ่อนใหญ่ๆ กระจายทั่วตัว ในช่วงวัยละอ่อนจุดนี้จะเห็นเด่นชัดมาก แต่พอโตขึ้นลวดลายจะจางลง ตัวเหี้ยมักจะชอบอยู่ใกล้น้ำมากกว่าตะกวด


ตัวเหี้ยจะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีเหลืองอ่อนใหญ่ๆ กระจายทั่วตัว ในช่วงวัยละอ่อนจุดนี้จะเห็นเด่นชัดมาก (รูป 1) แต่พอโตขึ้นลวดลายจะจางลง (รูป 2)
ตะกวด (Clouded monitor; V. bengalensis nebulosus , V. nebulosus ) หรือชาวอีสานเรียกว่า "แลน" สีสันและลวดลายจะต่างจากตัวเหี้ยคือ ลำตัวจะสีน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลเทา โดยส่วนหัวจะมีสีออกเหลืองมากกว่า มีจุดเหลืองเล็กๆ ทั่วตัว ตะกวดชอบอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง และมันชอบปีนต้นไม้ครับ ในภาคอีสานจะมีผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับลำไยลิ้นจี่น่ะครับ เปลือกสีแดง มีลักษณะขรุะขระ ความขรุขระของเปลือกนี้เองทำให้ชาวบ้านนำมาเปรียบกับคอของตัวแลน ... จึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า คอแลน


ตะกวดจะมีลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลเทา โดยส่วนหัวจะมีสีออกเหลืองมากกว่า มีจุดเหลืองเล็กๆ ทั่วตัว ในรูป 1 เป็นตัวไม่เต็มวัย และในรูปที่ 2 เป็นตัวเต็มวัย
เห่าช้าง (Black Rough-necked monitor; V. rudicollis (Gray, 1845)) เจ้าตัวนี้สีดำกว่าเพื่อนๆ มันครับ ตัวเล็กกว่าเหี้ย ส่วนหัวจะดูแหลมๆ เกล็ดบริเวณคอมันจะใหญ่และดูเหมือนหนาม เป็นสัตว์ขี้อาย ไม่ค่อยพบตัวง่ายเท่าไหร่นัก พบได้ทางภาคตะวันตกครับ


เห่าช้างมีลำตัวสีดำ บริเวณคอจะมีเกล็ดแหลมๆ เหมือนหนาม
ตุ๊ดตู่ (Dumeril monitor; V. dumerilii (Schlegel, 1839)) เป็นสมาชิกที่เล็กที่สุด ลำตัวสีน้ำตาลเทา ส่วนหัวสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ข้างคอและใต้คอมีสีอ่อนจนเกือบขาว มีแถบรูปตัว U พาดจากขมับวนรอบคอ ลำตัวมีลายเป็นปล้องวงแหวนสีอ่อนตลอดตัว (วัยเด็กมีสีฉูดฉาด หัวสีส้มสดหรือส้มอมเหลือง ใต้คอสีเหลืองหรือขาว) ชอบหลบตามโพรงหรือซอกหิน " ไม่ใช่ในรู "


ตุ๊ดตู่มีลำตัวสีน้ำตาลเทา มีแถบรูปตัว U พาดจากขมับวนรอบคอ ลำตัวมีลายเป็นปล้องวงแหวนสีอ่อนตลอดตัว (รูป 2) ในวัยเด็กมีสีฉูดฉาด หัวสีส้มสดหรือส้มอมเหลือง ใต้คอสีเหลืองหรือขาว (ในรูป 1)
แลนดอน (Yellow monitor; V. flavescens ) หรือตะกวดดอน ลักษณะคล้ายตะกวด ลำตัวมีสีเหลือง มีลายสีน้ำตาลคาด เจ้าตัวนี้มีข้อมูลน้อยมาก เพราะพบในเมืองไทยเมื่อนานมาแล้ว และพบในภาคตะวันตกและภาคใต้ (ผมอ่านชื่อครั้งแรกตกใจ นึกว่าแลนดอนในหนังสือ the Da Vinci's Code! เอ๊ะ! หรือแดน บราวน์ได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อพระเอกจากเจ้าตัวนี้ 555)

 

แลนดอนมีลักษณะคล้ายตะกวด ลำตัวมีสีเหลือง มีลายสีน้ำตาลคาด เคยพบในภาคใต้ติดกับมาเลเซีย ปัจจุบันไม่พบแล้ว

เนื่องจากสมาชิก 3 ชนิดหลัง (เห่าช้าง ตุ๊ดตู่ และแลนดอน) หาตัวยากเหลือเกิน เราจะมาเปรียบเทียบสมาชิกที่พบได้ง่ายคือ เหี้ยและตะกวด กันครับ

หัว ส่วนหัวของเหี้ยจะค่อนข้างป้านกว่าตะกวดครับ


เหี้ยจะมีส่วนหัวค่อนข้างป้าน มีรูจมูกค่อนกลมและอยู่ใกล้กับปาก (รูป 1) ส่วนตะกวดจะมีส่วนหัวแหลมกว่า และมีรูจมูกค่อนข้างรีและอยู่ใกล้ตา (รูป 2)
รูจมูก เหี้ยจะมีช่องเปิดของรูจมูกค่อนข้างกลมและอยู่ในตำแหน่งใกล้ปลายปาก ส่วนตะกวดนั้น รูเปิดของจมูกจะค่อนข้างรีและอยู่ใกล้กับดวงตา
ขนาดตัว เหี้ยมีขนาดใหญ่กว่า ตัวโตเต็มที่มีขนาดลำตัวประมาณ 100 ซม. ความยาวหางประมาณ 150 ซม.ในขณะที่ความยาวลำตัวของตะกวดแค่ 75 ซม. และมีความยาวหางประมาณ 100 ซม.


เหี้ยจะมีลายเป็นดวงขนาดใหญ่สีเหลือง (รูป 1) แต่ตะกวดจะมีลายจุดสีเหลือง (รูป 2)
ลายลำตัว เหี้ยจะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีเหลืองอ่อนใหญ่ๆ กระจายทั่วตัว ในช่วงวัยละอ่อนจุดนี้จะเห็นเด่นชัดมาก แต่พอโตขึ้นลวดลายจะจางลง แต่ตะกวดจะมีสีลำตัวน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลเทา โดยส่วนหัวจะมีสีออกเหลืองมากกว่า มีจุดเหลืองเล็กๆ ทั่วตัว
พื้นที่หากินและอุปนิสัย ตัวเหี้ยมักจะชอบอยู่ใกล้น้ำมากกว่าตะกวด และตะกวดชอบปีนต้นไม้